ใบกระท่อม สมุนไพรไทย ที่มีสรรพคุณทางยาเพียบ

image_pdfดาวน์โหลดไฟล์ PDF




ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth

ใบกระท่อม สมุนไพรไทย ที่มีสรรพคุณทางยาเพียบ

ใบกระท่อม หรือเรียกสั้นๆ ว่า กระท่อม (ชื่อภาษาอังกฤษ Kratom, ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa) เป็นไม้ยืนต้นใบเขียวในวงศ์กาแฟ (Rubiaceae) ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบ้านเราประเทศไทยสามารถพบได้ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ ในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ด้วยกัน คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง และกระท่อมยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่อีกด้วย เช่นทางภาคเหนือจะเรียกว่า “อีด่าง”  “อีแดง”  “กระอ่วม” ส่วนภาคใต้จะเรียกว่า “ท่อม” หรือ “ท่ม”

ใบกระท่อมเป็นสมุนไพรไทยที่ถูกใช้ในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านนิยมใช้เป็นยาสมุนไพรโดยมักรับประทานโดยการเคี้ยวใบสด หรือไม่ก็นำไปตำน้ำพริก สรรพคุณของใบกระท่อมที่เป็นที่กล่าวขานกันคือ การทนแดด มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกมีเรี่ยวแรงเมื่อต้องออกไปทำนาทำไร่กลางแดดร้อนๆ เนื่องจากใบกระท่อมมีฤทธิ์เย็นรวมถึงมีฤทธิ์คล้ายกับแอมเฟตามีน ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นประสาทให้ทำงานได้มากขึ้น แต่กล่าวกันว่า หากรับประทานใบกระท่อมแล้วไปอยู่ในห้องแอร์ จะทำให้มีอาการง่วงซึม ไม่กระตือรือร้นเหมือนอยู่กลางแดด

ในปี พ.ศ.2522 กระท่อมหรือใบกระท่อมนั้น ถูกจัดให้เป้นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับกัญชา ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 7 แต่ปัจจุบัน กระท่อม ได้ถูกปลอดล็อกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2564 นี้เอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ใบกระท่อมจะถูกปลดล็อกเพื่อใช้ประโยชน์ทางอาหารและยาแล้ว แต่ก็ยังมีข้อควรระมัดระวังทางกฎหมายที่ควรคำนึงถึงอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการนำไปใช้ผสมกับสิ่งเสพติดชนิดอื่นๆ การขายน้ำต้มกระท่อมในหอพัก สถานศึกษา รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์ และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ล้วนถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ ขณะนี้การซื้อขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกระท่อม ทำได้เพียงแต่ขายใบกระท่อมสดเท่านั้น ซึ่งราคาขายตามท้องตลาด ณ ปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ ขีดละ 60-100 บาทเลยทีเดียว



ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

สารสำคัญที่พบในใบกระท่อม

ใบกระท่อมประกอบด้วยแอลคาลอยด์ (Alkaloid) ทั้งหมดประมาณร้อยละ 0.5 ในจำนวนนี้เป็นไมทราไจนีน (Mitragynine) ร้อยละ 0.25 ที่เหลือเป็น สเปโอไจนีน (Speciogynine), ไพแนนทีน (Paynanthine) และสเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคาลอยด์ที่พบจะแตกต่างกันตามแต่ละสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยวใบกระท่อม ซึ่งสามารถแบ่งตามสูตรโครงสร้างได้สารประกอบจำนวน 4  ประเภทด้วยกัน คือ

  1. อินโดลแอลคะลอยด์ (Indole Alkaloids)
  2. ออกอินโดลแอลคะลอยด์ (Oxindole Alkaloids)
  3. ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
  4. กลุ่มอื่นๆ เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterol), แทนนิน (Tannins)



ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

สรรพคุณทางยาของใบกระท่อม

ในสมัยโบราณ ใบกระท่อมถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำพืชสมุนไพรมาใช้รักษาอาการต่างๆ โดยนิยมนำใบกระท่อมมารักษาอาการท้องเสียต่างๆ รวมถึงใช้ในการระงับประสาท ทำให้นอนหลับง่าย และในบางพื้นที่กล่าวกันว่าสามารถช่วยบรรเทาโรคเบาหวานได้ด้วย ในมุมมองของแพทย์แผนไทยส่วนใหญ่ จะนำใบกระท่อมมาใช้เป็นยารักษาแก้ท้องร่วงในสูตรยาของหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณ เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาแผนไทยสูตรนี้แล้ว เนื่องจากมียาแผนปัจจุบันที่ให้ผลเท่าเทียมหรือดีกว่านั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของใบกระท่อม ที่สามารถนำมาสกัดใช้เป็นสรรพคุณทางยา เช่น

  • สามารถรักษาโรคบิด ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ปวดเบ่ง และอาการมวนท้องได้
  • สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามร่างกายได้
  • สามารถช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยระงับประสาท และคลายความวิตกกังวลได้
  • สามารถช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว รักษาระดับพลังงาน และทำให้ทำงานได้นานขึ้นได้ รวมถึงสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย
  • สามารถนำมาตำหรือบด ใช้ทำเป็นยาสมุนไพรสำหรับพอกรักษาแผลได้

ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

นอกจากนี้ เนื่องจากใบกระท่อมมีสารแอลคาลอยด์และไมทราไจนีนอยู่ในใบ จึงทำให้มันมีฤทธิ์ระงับอาการปวดเช่นเดียวกับมอร์ฟีน แต่มีความแรงน้อยกว่า 10 เท่า และมีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการ ดังนี้

  • กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ
  • ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี
  • ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา (Craving) จึงไม่มีกรณีผู้ติดใบกระท่อมไปก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย
  • อาการขาดยาหรือขาดใบกระท่อม ไม่ทรมานเท่าการขาดมอร์ฟีน และสามารถบำบัดได้ง่ายกว่า โดยใช้ระยะเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น ในขณะที่ผู้ติดมอร์ฟีนอาจต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลานานตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
  • ในด้านการควบคุมทางกฎหมาย ไม่มีสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ห้ามการปลูกพืชกระท่อมเหมือนกับฝิ่น
  • สามารถนำมาบำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้



ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

วิธีใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการต่างๆ

อย่างที่เราทราบกันดีว่าใบกระท่อมสามารถนำมาช่วยรักษาอาการและโรคบางอย่างได้ แต่เราต้องรู้จักวิธีการนำใบกระท่อมไปใช้อย่างถูกวิธี มาดูกันว่าวิธีที่จะใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการต่างๆ ทำอย่างไรกันบ้าง

  • รักษาอาการไอ – ให้ใช้ใบกระท่อมสดประมาณ 1-2 ใบ นำไปต้มกับน้ำตาลทรายแดง จากนั้นให้นำมาดื่มจิบเพื่อแก้ไอ หรือสามารถเคี้ยวใบกระท่อมสดได้เลย โดยให้คายกากออก และควรดื่มน้ำตามให้มากๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • รักษาอาการปวดเมื่อย – ให้นำใบกระท่อม 2 ส่วน ผสมกับ เนื้อในฝักราชพฤกษ์ (ฝักต้นคูณ) 5 ฝัก, เถากำแพงเจ็ดชั้น 3 ส่วน, เถาวัลย์เปรียง , มะคําไก่ , มะแว้งต้น , มะแว้งเครือ , เถาโคคลาน , เถาสังวาล , พระอินทร์ , หญ้าหนู , ต้นผักเสี้ยนผี , แก่นขี้เหล็ก , ใบมะกา อย่างละ 1 ส่วน จากนั้นให้นำไปต้มรวมกัน และนำมารับประทานก่อนอาหาร เช้า-เย็น ครั้งละครึ่งถ้วยหรือ 1 ถ้วย จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้
  • รักษาอาการท้องเสีย ท้องร่วง – ให้เคี้ยวใบกระท่อมสด และดื่มน้ำตาม หรือให้นำใบกระท่อมไปต้ม จากนั้นใส่เกลือ และน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย หรือให้นำเปลือกต้นกระท่อม เปลือกต้นสะเดา เปลือกต้นมะขาม หนักอย่างละ 50 กรัม หัวขมิ้นชัน (แก่) หัวกระทือ (แก่) อย่างละ 1 หัว นำไปเผาไฟให้พอสุก จากนั้นนำมาต้มรวมกับน้ําปูนใสและน้ําธรรมดาอย่างละเท่าๆ กัน ให้รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ เมื่อหายท้องร่วงแล้วจึงค่อยหยุดทาน
  • รักษาโรคเบาหวาน – ให้เคี้ยวใบกระท่อมสดวันละ 1 ใบ ติดต่อกันนาน 41 วัน หรือให้ต้มใบกระท่อมผสมกับอินทนินน้ำ กระเทียมต้น และกระเทียมเถา หรือให้ต้มใบกระท่อมกัยหญ้าหนวดแมว ไม้ค้อนตีนหมา อย่างละเท่าๆ กัน ต้มน้ำ 3 เอา 1 ดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ เช้า-เย็น หรือให้ใช้ใบกระท่อมทั้ง 5 ส่วน (ใบ กิ่ง เปลือก ราก ต้นกระท่อมต้นเล็กสูงประมาณ 1 ศอก) สับใส่หม้อต้ม รับประทานครั้งละ 3-5 ช้อนโต๊ะ เช้า-เย็น



ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

กินใบกระท่อมอย่างไรให้ปลอดภัย?

ในการรับประทานใบกระท่อมที่ถูกต้องนั้น ไม่ควรกินเกินวันละ 5 ใบ หากกินใบสด ให้รูดก้านใบออกเพื่อเอาแต่ใบล้วนๆ แล้วนำมาเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก เนื่องจากน้ำลายของคนเรามีความเป็นด่าง สามารถสกัดเอาแอลคาลอยด์และไมทราไจนีนออกมาเวลาเคี้ยวได้ ไม่ควรกลืนกากใบกระท่อมเพราะอาจจะทำให้เกิด “ถุงท่อม” ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้อง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ โดยใบกระท่อมมีกากใบที่เป็นเส้นใยที่ย่อยยาก หากกลืนเข้าไปแล้วและขับถ่ายไม่ได้ไม่หมดอาจจะก่อให้เกิดอาการท้องผูก เนื่องจากเส้นใยพวกนี้จะก่อตัวกันเปิดก้อน เช่นเดียวกับวัวควายที่เคี้ยวหญ้า ซึ่งมักจะเกิดเป็นก้อนเรียกว่า “โคโรค”

สำหรับการต้มน้ำกระท่อม ก็ไม่ควรใช้ใบกระท่อมเกิน 5 ใบต่อวันเช่นกัน และเมื่อต้มใบกระท่อมแล้วก็ควรจะกรองเอากากออก การต้มใบกระท่อม แนะนำให้บีบมะนาวลงไปก่อนที่จะกรองกากใบออก เนื่องจากแอลคาลอยด์ในใบกระท่อมจะกลายไปอยู่ในรูปของเกลือซึ่งละลายน้ำได้นั่นเอง



ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

อาการของผู้ที่ติดใบกระท่อม

แม้ใบกระท่อมจะมีประโยชน์ทางยา แต่ก็สามารถทำให้เสพติด และมีผลเสียต่อสุขภาพได้ หากใช้ใบกระท่อมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ รวมถึงการนำใปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งอาการของผู้ที่ติดใบกระท่อมจะมีลักษณะคล้ายกับผู้ที่ติดสารแอมเฟตามีน นั่นคือมีอาการเบื่ออาหาร สามารถทำงานได้มากเกินปกติ ตื่นตัว ตื่นเต้น เนื่องจากประสาทถูกกระตุ้น หากขาดใบกระท่อมหรือที่เรียกว่าอาการขาดยา จะทำให้รู้สึกไม่มีแรง มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สามารถทำงานได้ มีอารมณ์ซึมเศร้า จมูกแฉะ น้ำตาไหล ในบางรายจะมีท่าทางก้าวร้าว แต่เป็นมิตร (Hostility) ซึ่งยังไม่มีรายงานว่าผู้ที่ขาดใบกระท่อมไปก่อปัญหาอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุใดๆ นอกจากนี้ยังพบว่าอาจมีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ซึ่งตรงจะกับข้ามกับอาการขาดยาแอมเฟตามีนที่จะทำให้รู้สึกง่วงนอนมาก มีอาการหิวจัด และมือสั่น




ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

โทษของใบกระท่อมหากกินติดต่อกันนานเกินไป

ถึงแม้ใบกระท่อมออกฤทธิ์ทางยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ในเบื้องต้นให้แก่ร่างกายได้ แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงการกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจจะสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน โดยมีข้อควรระวังในกลุ่มผู้ที่นำใบกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปต้มเพื่อผสมกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ โดยไม่ได้มุ่งใช้ประโยชน์ในทางสรรพคุณของยา จึงทำให้ผู้ที่กินใบกระท่อมมากเกินไป อาจจะมีอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้ได้

  • ปากแห้ง
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก
  • ปัสสาวะบ่อย
  • หนาวสั่น
  • นอนไม่หลับ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ผิวหนังสีเข้มขึ้น
  • ประสาทหลอน
  • หวาดระแวง


ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

ทำไมก่อนหน้านี้ “กระท่อม” ถึงถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ?

กระท่อมเพิ่งปรากฏเป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) โดยเหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486 นี้เนื่องมาจาก ฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตในขณะนั้น ทั้ง ฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง จึงทำให้ชาวบ้านหันมาสูบใบกระท่อมแทนฝิ่นนั่นเอง ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว การออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486 และมีการใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีเหตุผลและหลักการทางการค้าทางภาษีของรัฐเท่านั้น ไม่ใช่เพราะเหตุผลที่พืชกระท่อมเป็นพืชเสพติดเองเลย ซึ่งหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อจัดให้เป็นยาเสพติดที่จะต้องควบคุมนั้นมีดังนี้

  1. เมื่อไม่ได้เสพแล้วก่อให้เกิดอาการขาดยา
  2. มีประโยชน์ทางการแพทย์น้อยหรือไม่มีเลย
  3. ก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุข
  4. ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม

แต่ในงานวิจัยหลายๆ ฉบับกลับไม่พบการก่อปัญหาอาชญากรรมจากผู้ที่เสพใบกระท่อมเลย จึงทำให้แท้ที่จริงแล้วกระท่อมไม่เข้าหลักเกณฑ์ยาเสพติดตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ โดยในปัจจุบัน พ.ศ.2564 ประเทศไทยได้มีการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีข้อควรระมัดระวังทางกฎหมายที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะการนำไปใช้ผสมกับสิ่งเสพติดชนิดอื่น การขายน้ำต้มกระท่อมในหอพัก สถานศึกษา รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่คนท้อง สตรีมีครรภ์ และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ล้วนถือเป็นการผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้




ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

กระท่อมกำลังจะมีกฎหมายเป็นของตัวเองแล้วนะ

หลังจากปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษแล้วในปี พ.ศ.2564 ก็จะมีการออก พ.ร.บ. พืชกระท่อม เพื่อจัดการดูแลพืชกระท่อมโดยเฉพาะ โดยร่าง พ.ร.บ. พืชกระท่อม ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2563 ซึ่งในขณะนี้ได้อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาในสภา โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลการปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น

  • กำหนดให้การปลูกพืชกระท่อม การขาย การนำเข้าหรือส่งออกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาต
  • กำหนดคุณสมบัติและระเบียบเกี่ยวกับสถานที่ขาย นำเข้าหรือส่งออกพืชกระท่อม
  • กำหนดมาตรการป้องกันการใช้ใบกระท่อมในทางที่ผิด เช่น ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็น
  • วัตถุดิบหรือส่วนประกอบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท, ห้าม
  • บริโภคใบกระท่อมหรือน้ำต้มใบกระท่อมที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท เป็นต้น




ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

กระท่อมกับการควบคุมในต่างประเทศ

ในต่างประเทศ สหประชาชาติ (UN) จะยังไม่ได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมในบัญชีรายชื่อยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่จาก World drug report 2013 ของสำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้มีการขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของสารออกฤทธิ์ตัวใหม่ๆ ซึ่งก็มีกระท่อมถูกรวมอยู่ด้วย โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ประเทศในยุโรป เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน มีการควบคุมพืชกระท่อม สารไมทราไจนีน และสาร 7-hydroxy mitragynine สำหรับประเทศออสเตรเลีย พม่า รวมถึงไทย มีการควบคุมพืชกระท่อมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนนิวซีแลนด์ ควบคุมพืชกระท่อม และสารไมทราไจนีน ภายใต้กฎหมาย Medicines Amendment Regulations

จาก World drug report 2013 ของสำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ให้ข้อมูลการแพร่ระบาดของพืชกระท่อมว่า พืชกระท่อมมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการรายงานการใช้ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในปี ค.ศ. 2011 ยุโรปเริ่มการมีขายพืชกระท่อมทางอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย และก็มีหลายประเทศที่อนุญาตให้ซื้อขายและส่งออกกระท่อมได้อย่างถูกกฎหมายอย่างเช่นอินโดนีเซีย ในประเทศอังกฤษมีการขายกระท่อมทั้งใบสด ใบแห้ง ผง และสารสกัดใบกระท่อม ผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

จากการศึกษาและสอบถามจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งคือ ลาว เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย พบว่า พืชกระท่อมที่อยู่ในรูปของ ต้น ใบ ราก ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศเหล่านี้ และประชาชนบางกลุ่มที่นิยมบริโภคในรูปของใบสดเพื่อกระตุ้นในการทำงาน อีกทั้งในข้อตกลงของ สหประชาชาติก็ไม่ได้กำหนดให้กระท่อมเป็นสิ่งเสพติดหรือผิดกฎหมาย คงมีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่กำหนดให้กระท่อมเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2518 ได้กำหนดให้ต้นกระท่อมเป็นพืชหวงห้าม จะตัดฟัน ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ทำให้เกิดปัญหาว่าหากประชาชนมีต้นกระท่อมอยู่ในสวนหรือที่ดินก็จะไปตัดโดยพลการไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันการครอบครองกระท่อมก็ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในปัจจุบัน ปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยได้มีการปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษเรียบร้อยแล้ว




ใบกระท่อม สรรพคุณ รสรินทร์ Rosalynth 01

ใบกระท่อมสามารถช่วยต้านโควิด-19 (Covid-19) ได้จริงรึเปล่า?

ข่าวนี้เป็น “ข่าวปลอม” ใบกระท่อมไม่สามารถต้านโควิต-19 ได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้มีการออกเอกสารชี้แจงกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อข้อมูลเรื่อง “ใบกระท่อมต้านโควิด-19” โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อในสื่อออนไลน์ โดยมีผู้ผลิตผลิณภัณฑ์จากกระท่อมกล่าวว่าสามารถใช้ใบกระท่อมป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 ได้ ทั้งนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ให้คำชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวเป็น “ข่าวปลอม” ปัจจุบันยังไม่พบรายงานการวิจัยที่ยืนยันได้ว่าใบกระท่อมมีสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 ได้ นอกจากนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ยังได้ออกคำเตือนเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอีกด้วย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับการพิจารณาด้านความปลอดภัย



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก Internet

ขอบคุณที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

Rosalyn Banner


อยากรู้สูตรเด็ดเคล็ดลับรสรินทร์ตอนใหม่ๆ อย่าลืมกดไลค์แฟนเพจรสรินทร์ นะคะ
รับรองว่า คุณจะทำอาหารได้อร่อยจนคนทั้งบ้านชมไม่ขาดปากเลยค่ะ
ขอบคุณที่ติดตามเพจ รสรินทร์ Rosalyn นะคะ

Facebook: RosalynTH

ดูสูตรเด็ดอื่นๆ หน้าหลักรสรินทร์

[vc_row][vc_column][vc_single_image image=”1894″ img_size=”full” alignment=”center” onclick=”custom_link” link=”https://store.line.me/stickershop/product/5353487/en”][/vc_column][/vc_row]

image_pdfดาวน์โหลดไฟล์ PDF